3 เหตุผลที่เราควรลงทุนในหลายๆ สินทรัพย์
1. ต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น
ผลตอบแทนของแต่ละสินทรัพย์มีความผันผวนตั้งแต่น้อยไปหามาก เช่นในตลาดเงิน (พันธบัตรระยะสั้น) ความผันผวนต่ำ คือเรามีโอกาสขาดทุนน้อยมาก แต่ก็ตามมาด้วยผลตอบแทนที่ต่ำ ขณะที่น้ำมันเสี่ยงสูงมาก แต่ให้ผลตอบแทนสูงเช่นกัน ดังนั้นหากเราไม่หาความรู้เกี่ยวกับสินทรัพย์ลงทุนอื่นๆ เราจะไม่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาวเพิ่มขึ้นได้
2. เพื่อลดความเสี่ยง
สินทรัพย์ที่ยิ่งให้ผลตอบแทนสูง จะยิ่งมีความผันผวนมากเช่น หุ้น น้ำมันหรือ Bitcoin ดังนั้นการรู้จักสินทรัพย์หลายๆ สินทรัพย์ จะทำให้เราสามารถจัดพอร์ตการลงทุนตามความเสี่ยงที่เหมาะสมกับเราได้ เช่นพอร์ตเราต้องการผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีประมาณ 5% เราควรมาจัดสรรว่าจะมีหุ้น ตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล ทองคำ เป็นสัดส่วนเท่าไร
3. การขี้นลงของราคาแต่ละสินทรัพย์มีความสัมพันธ์กัน
สมมุติว่าเรามีความรู้และความเข้าใจเรื่องหุ้นมาก และต้องการลงทุนหุ้นอย่างเดียว จำเป็นไหมเราต้องรู้จักสินทรัพย์อื่นๆ คำตอบคือจำเป็น เพราะแม้ว่าเราจะลงทุนหุ้นแนวเน้นคุณค่า (Value Investor) เน้นหุ้นพื้นฐานลงทุนระยะยาว แต่คำถามคือแล้วเราจะไม่สนใจปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่มีผลต่อภาพตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ตลาดทองคำ ตลาดน้ำมันหรืออย่างไร แม้กระทั่งกูรูผู้ยิ่งใหญ่ด้านการลงทุนหุ้น Warren Buffett ยังศึกษาตลาดสินทรัพย์ต่างๆ และวิเคราะห์ว่าช่วงนี้ไม่ควรซื้อหุ้น หรือควรซื้อหุ้นเพิ่ม ดังเช่นปัจจุบัน (ณ สิ้นปี 2564) เขามีสัดส่วนเงินสดในพอร์ตการลงทุนของเขาสูงถึง 40% ของพอร์ตรวม ซึ่งการไม่ซื้อหุ้นเพิ่ม เขาจำเป็นต้องรู้จักสินทรัพย์อื่นๆ ประกอบไปด้วย แล้วรอคอยโอกาสที่จะกลับมาซื้อหุ้นอีกครั้งหนึ่ง
สินทรัพย์ที่น่าลงทุนในแต่ละสถานการณ์ของเศรษฐกิจ
แล้วทำไมราคาของสินทรัพย์ต่างๆ ถึงมีความสัมพันธ์กัน และไม่มีสินทรัพย์ใดให้ผลตอบแทนสูงสุดหรือต่ำสุดในระยะยาว นั่นเป็นเพราะว่าสถานการณ์เศรษฐกิจที่แตกต่างกันจะมีผลต่อราคาสินทรัพย์ลงทุนแต่ละชนิดแตกต่างกัน เช่นช่วงที่ดอกเบี้ยขึ้น ตราสารหนี้จะให้ผลตอบแทนที่ไม่ดี ในขณะช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว หุ้นจะให้ผลตอบแทนดีที่สุด หรือหากเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงหดตัว (Recession) การถือเงินสดถือว่าปลอดภัยที่สุดเป็นต้น ดังนั้นแม้ว่าเราจะลงทุนหุ้นอย่างเดียว เราก็ต้องเข้าใจในเชิงเศรษฐกิจเช่นเดียวกันว่าการลงทุนหุ้นช่วงนี้ไม่ดี เราควรลดสัดส่วนการลงทุนหุ้นลงหรือไม่ หรือไม่ควรซื้อหุ้นเพิ่ม และอาจนำเงินสดไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่ความเสี่ยงต่ำ เพื่อเป็นการพักเงินไว้ก่อนที่จะถึงรอบลงทุนหุ้นใหม่อีกครั้ง
คำแนะนำสำหรับนักลงทุนทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า
หากคุณยังเป็นนักลงทุนหน้าใหม่
เพิ่งศึกษาการลงทุนมาไม่นาน ยังไม่มีความเข้าใจสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเป็นพิเศษ การจัดพอร์ตการลงทุนตามความสามารถในการรับความเสี่ยงของเราถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยเริ่มแรกหากเรายังรับความเสี่ยงได้ไม่มาก ก็อาจเริ่มลงทุนหุ้น 10% ก่อนก็ได้ เงินส่วนใหญ่ก็ไปลงทุนพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดีๆ ไปก่อน โดยอาจจัดพอร์ตการลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างๆ ได้ และเมื่อไรเรามีความรู้เรื่องการลงทุนมากขึ้นและรับความเสี่ยงได้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็ค่อยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนหุ้นหรือทองคำเพิ่มขึ้นได้ และเก่งมากพอเราก็สามารถเลือกลงทุนหุ้นรายตัวได้
“ความเสี่ยงไม่ได้เกิดจากการลงทุนอย่างเดียว แต่เกิดจากเราไม่รู้ว่าเราลงทุนอะไร”
หากคุณเข้าใจสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเป็นพิเศษ
สามารถลงทุนเฉพาะเจาะจงได้ เช่น ลงทุนหุ้น อสังหาฯ ทองคำ แม้กระทั่งของสะสม อย่างเดียวพอได้ เช่นผมเคยมีลูกค้าที่มาขอคำปรึกษาผมเรื่องลงทุนหุ้น โดยเข้ามีความมั่งคั่งจากวงการพระเครื่อง มีลูกศิษย์ที่รวยจากการลงทุนอสังหาฯ แต่มาศึกษาเรื่องหุ้นเพราะอยากมีความรู้มากขึ้น และมีเพื่อนผมที่รวยจากการสะสมและซื้อขายนาฬิกาแบรนด์เนมเป็นต้น หรือแม้กระทั่งตัวผมเองก็เน้นการลงทุนในหุ้นเป็นหลัก ทั้งนี้จะเห็นว่าแต่ละคนมีความสามารถ ความรู้ ประสบการณ์เฉพาะด้าน เขาสามารถลงทุนเฉพาะเจาะจงได้ แต่ที่สำคัญคุณต้องมั่นใจนะครับว่าคุณมีความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องสินทรัพย์ที่จะลงทุนมากกว่าคนอื่น ต้องประเมินตัวเองให้ดี โดยอาจติดตามผลตอบแทนว่าได้มากน้อยแค่ไหน แต่หากเรายังไม่เก่งขนาดนั้น การลงทุนแบบแรกถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีและสามารถประสบความสำเร็จและมีอิสรภาพทางการเงินได้
อย่างไรก็ตามไม่ว่าเราจะเป็นนักลงทุนประเภทไหนไม่ว่าลงทุนระยะสั้น ระยะยาว ลงทุนแบบจัดพอร์ตการลงทุน หรือลงทุนเฉพาะกับสินทรัพย์ที่ถนัด สิ่งที่สำคัญคือการหาความรู้ด้านการลงทุนให้รอบด้าน