ณ คืนวันศุกร์ที่ 1 เมษายน 2022 เกิดปรากฏการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีให้ผลตอบแทนสูงกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นความผิดปกติของเส้น Yield Curve ซึ่งตามทฤษฎีแล้วเมื่อระยะเวลาลงทุนที่นานขึ้นย่อมต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพราะการลงทุนระยะยาวมีความเสี่ยงมากกว่าระยะสั้น

ภาวะดังกล่าว (ผลตอบแทนระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว) จะเรียกว่า Inverted Yield Curve เป็นการส่งสัญญาณมาจากตลาดพันธบัตรว่า นักลงทุนคาดดอกเบี้ยในระยะยาวจะถูกปรับตัวลงมาสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเกิดจากการมองแนวโน้มเศรษฐกิจระยะยาวที่ไม่สดใสเท่าไรนัก ดังนั้นเมื่อนักลงทุนคาดว่าดอกเบี้ยในระยะยาวจะถูกปรับลงมา จึงทำการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวเพื่อเป็นการ Lock ผลตอบแทน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวจึงปรับตัวลง

ในอดีตที่ผ่านมาเมื่อเกิดภาวะ Inverted Yield Curve มักตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) หรือ GDP ติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อ (QoQ) หากย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1975 เกิดภาวะ Inverted Yield Curve มาแล้วถึง 7 ครั้ง และเป็นที่น่าประหลาดใจว่าสูงถึง 6 ครั้งที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือคิดเป็นโอกาส 85% (มีเพียง 1 ครั้งที่ไม่เกิดเศรษฐกิจถดถอย) โดยหลังจากเกิด Inverted Yield Curve พบว่า 6-18 เดือนจะตามมาด้วยภาวะ Recession ซึ่งครั้งล่าสุดเกิดขึ้นช่วง สิงหาคม 2019 และหลังจากนั้นก็เกิดการระบาด COVID-19 ที่หนักหน่วงกดดันเศรษฐกิจในช่วง 2Q20

อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตคือช่วงแรกที่เกิดภาวะ Inverted Yield Curve ตลาดมักไม่ได้ปรับตัวลงทันที (สอดคล้องกับช่วงนี้) แต่ตลาดหุ้นมักปรับฐานตามมาในระยะถัดไปเมื่อเศรษฐกิจส่งสัญญาณว่าเริ่มมีปัญหาและเข้าสู่ Recession ดังนั้นเมื่อทราบข้อมูลเช่นนี้แล้วนักลงทุนควรจะต้องเริ่มคิดถึงการปรับพอร์ตการลงทุนและเตรียมเม็ดเงินให้พร้อมเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลงมาในช่วงถัดไป (6 – 18 เดือนจากนี้) แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ามี 1 ครั้งที่มิได้เกิด Recession ก็คงต้องมาติดตามว่ากับรอบนี้จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ เวลาเท่านั้นที่จะเป็นคำตอบให้กับนักลงทุน

วทัญ จิตต์สมนึก นักกลยุทธ์การลงทุน หลักทรัพย์พาย

Recommended Posts