1. ถ้ามีหนี้ จ่ายหนี้ก่อน
ฟังดูเหมือนไม่เกี่ยวกับการลงทุน แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากมีหนี้สินควรจ่ายหนี้ก่อน เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยเงินกู้ถือว่าอยู่ในระดับสูง ยิ่งเป็นดอกเบี้ยบัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคลอาจสูงถึงปีละ 16-18% ดังนั้นการนำเงินไปจ่ายหนี้เป็นการลดภาระดอกเบี้ย เหมือนกับเรานำเงินไปลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนเช่นกัน
2. ซื้อกองทุนเกษียณอายุ
กองทุนเกษียณอายุมีหลายรูปแบบ โดยหากเป็นพนักงานบริษัทจะเรียกว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ซึ่งเป็นประโยชน์มาก มีโอกาสต้องใช้ให้ได้ เนื่องจากนายจ้างจะสมทบเงินเข้ากองทุนให้เราเท่ากับที่เรานำเงินสมทบเข้ากองทุน (ทั้งนี้เป็นไปตามกฎของแต่ละบริษัทว่าจะให้สมทบกี่เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน) การที่นายจ้างสมทบเงินเข้ามาให้เราถือว่าเป็นเงินที่ได้เปล่า
ส่วนข้าราชการจะเรียกว่ากองทุนบำเหน็จบำนาญ ซึ่งมีเงื่อนไขคล้ายกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
การลงทุนผ่านกองทุนเกษียณอายุเป็นการสร้างวินัยการออมเงินและการลงทุนที่ดีมาก และสามารถหวังผลตอบแทนได้ดีในระยะยาว โดยเราจะได้รับเงินคืนเมื่อพ้นสภาพการเป็นพนักงานหรือข้าราชการ หรือจะได้คืนเมื่อเกษียณ
3. ซื้อกองทุนประหยัดภาษี
หากมีเงื่อนเหลือเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน แนะนำให้ใช้ประโยชน์จากกองทุนประหยัดภาษีไม่ว่าจะเป็น RMF (Retirement Mutual Fund) หรือ SSF (Super Saving Fund) ซึ่งนอกจากจะประหยัดภาษีให้เราแล้วยังเป็นการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว
เงื่อนไขการลงทุนผ่าน SSF คือสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท
ส่วนเงื่อนไข RMF คือสามารถนำมาลดภาษีได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปี แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท
ทั้งนี้ การลดหย่อนเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท
4. ซื้อกองทุนดัชนีหุ้น
หุ้นคือหนึ่งในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในระยะยาว แต่การลงทุนด้วยการเลือกหุ้นรายตัวอาจเป็นการยากสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ รวมถึงมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง อีกทั้งเงินที่เราลงทุนมีเพียงเดือนละ 1 พันบาทเท่านั้น ดังนั้นการลงทุนผ่านกองทุนดัชนีหุ้นจึงมีความเสี่ยงน้อยที่สุด ขณะที่ยังคาดหวังผลตอบแทนในระยะยาวได้ โดยในอดีตตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละประมาณ 10%
5. จัดพอร์ตการลงทุนแบบ 60/40
การจัดพอร์ตการลงทุนแบบ 60/40 เป็นที่นิยมมากสำหรับนักลงทุนทั่วไปที่ไม่ได้มีเวลาดูแลพอร์ตหรือมีความรู้ไม่มากในการลงทุน โดยแบ่งเป็นพอร์ตหุ้น 60% และลงทุนตราสารหนี้ (หุ้นกู้) 40% แน่นอนว่าเงิน 1 พันบาทนำมาจัดพอร์ตได้ เพราะปัจจุบันเราสามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้นและกองทุนรวมตราสารหนี้ด้วยการใช้เงินลงทุนเพียง 100 บาท
การจัดพอร์ตแบบ 60/40 พิสูจน์แล้วว่าได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 5-8% ต่อปี ขึ้นอยู่กับกองทุนที่เลือกลงทุน ซึ่งถือว่าเป็นการลดความเสี่ยงจากการลงทุนกองทุนหุ้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น