Skip to content

Contents

ก่อนหน้านี้ เราได้อธิบายถึงความสำคัญของทฤษฎี 5 Forces Model หรือแรงกดดันทั้ง 5 ซึ่งประกอบไปด้วย 1) การแข่งขันกันภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน 2) อำนาจต่อรองของลูกค้า 3) อำนาจต่อรองของซัพพลายเออร์ 4) ภัยคุกคามจากผู้แข่งขันรายใหม่ และ 5 ) ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทน โดยพยายามหาบริษัทที่มีศักยภาพในการสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งในแรงทั้ง 5

สำหรับบทความนี้เราจะมาลงลึกถึงการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินตัวหนึ่งที่ความมหัศจรรย์มากที่สามารถบอกศักยภาพในการทนแรงกดดันได้ถึง 3 แรงแบบโดยตรง (การแข่งขันในอุตสาหกรรมเดียวกัน อำนาจต่อรองต่อลูกค้าและซัพพลายเออร์) และในทางอ้อมสามารถบอกได้ถึงความเสี่ยงอีก 2 แรงที่เหลือ (คู่แข่งที่จะเข้ามาใหม่และสินค้าทดแทน) อัตราส่วนนั้นคืออัตราส่วนกำไรขั้นต้น

แล้วอัตรากำไรขั้นต้นบอกอะไรเราได้บ้าง หากเราพิจารณาองค์ประกอบของอัตราส่วนนี้จะประกอบไปด้วยรายได้และต้นทุนสินค้าหรือบริการ กรณีที่อัตราส่วนนี้สูงบ่งบอกได้ 2 อย่างคือบริษัทมีศักยภาพในการขึ้นราคาสินค้าเพื่อเพิ่มยอดขายได้ดี และ/หรือบริษัทมีอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์สูงเพื่อลดต้นทุนสินค้าหรือบริการลง

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขสูงอย่างเดียวไม่พอต้องสม่ำเสมอด้วย เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ชั่วคราว เช่น ราคาน้ำมันลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนวัตถุดิบลดลงหรือเพิ่มขึ้นชั่วคราว ดังนั้นการย้อนดูอัตรากำไรขั้นต้นประมาณ 10 ปี ซึ่งหากสม่ำเสมอ (อาจมีลดลงได้ในบางปีหรือบางไตรมาสจากวิกฤตหรือเหตุการณ์ชั่วคราว เช่น น้ำท่วม การเมือง โรคระบาด เป็นต้น) แต่ในระยะยาวยังสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นได้หรือหากเพิ่มขึ้นได้ยิ่งดี

กรณีศึกษา : CPALL

จากกราฟ อัตรากำไรขั้นต้นของ CPALL 5 ปีย้อนหลังจะเห็นว่าค่อนข้างสม่ำเสมอ ยิ่งไปกว่านั้นเฉพาะในปี 2016-2019 อัตรากำไรขั้นต้นมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นด้วย แม้ว่าอัตรากำไรขั้นต้นในปี 2020 ปรับลดลงแต่นั่นเป็นผลจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ซึ่งจากแนวโน้มดังกล่าวก็แสดงให้เห็นว่า CPALL มีศักยภาพใน 2 ด้าน

  1. ความสามารถในการทนแรงกดดันจากการต่อรองของลูกค้า
  2. ความสามารถในการต่อรองราคากับซัพพลายเออร์ได้ดี

กรณีศึกษา : ADVANC

ADVANC (AIS) มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่าบริษัทคู่แข่ง เนื่องจากมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด บ่งชี้ว่า ADVANC มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง (DTAC และ TRUE) ใน 2 ด้าน

  1. ความสามารถต่อรองราคากับลูกค้า
  2. ความสามารถในการต่อรองกับซัพพลายเออร์

อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นของหุ้นกลุ่มสื่อสารทั้ง 3 บริษัทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลง ทั้งก่อนและหลังเกิดโควิด 19 แสดงให้เห็นว่าโดนผลกระทบเดียวกัน ซึ่งนั่นคือต้นทุนที่สูงขึ้นจากการลงทุน 5G จะเห็นได้ว่าอัตรากำไรขั้นต้นยังสามารถบอกถึงศักยภาพในการแข่งขันและการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้นๆ

กรณีศึกษาในภาคธุรกิจอื่นๆ

  • หากบริษัทที่เรากำลังศึกษาอยู่มีอัตรากำไรขั้นต้นลดลง แต่คู่แข่งไม่ลด >> บริษัทกำลังเสียฐานลูกค้าให้คู่แข่ง
  • หากอัตรากำไรขั้นต้นลดลงทั้งอุตสาหกรรมพร้อมๆ กันโดยไม่ได้เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจหรือเหตุการณ์ชั่วคราว >> ภาคอุตสาหกรรมกำลังเจอความเสี่ยงจากสินค้าทดแทน

จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าอัตรากำไรขั้นต้นเป็นอัตราส่วนมหัศจรรย์ เพราะเพียงแค่ตัวเลขเดียวก็สามารถบอกได้ครบทั้ง 5 แรงกดดัน ดังนั้นอัตราส่วนทางการเงินคือลายแทงหาบริษัทที่ดีจริงๆ และหากเรานำอัตราส่วนนี้ไปวิเคราะห์ประกอบกับการศึกษาปัจจัยอื่นๆ จะยิ่งทำให้เรามั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าบริษัทที่เราเข้าไปลงทุนนั้นดีจริง

===============

‍‍‍‍‍‍🌟ติดตามสาระและความรู้เกี่ยวกับการลงทุนเพิ่มเติม

https://www.piknowledge.co

===============

ช่องทางการติดตาม Pi Securities

• Website: https://www.pi.financial

• Facebook: https://bit.ly/38ZpLhq

• Youtube: https://bit.ly/3NEEmgV

• Blockdit: Blockdit.com/pisecurities

• Line@: https://bit.ly/3I2cCk7

• Telegram: https://t.me/pisecurities

เพื่อความสะดวกรวดเร็วในกรณีต้องการความช่วยเหลือ ท่านสามารถติดต่อ “ทีม Customer Support” บล.พาย ได้ผ่านช่องทางแชทด้านล่าง

Line: https://bit.ly/3I2cCk7

E-mail: [email protected]