Skip to content

Contents

นักลงทุนในตลาดหุ้นไม่ได้มีประเภทเดียว โดยประเภทนักลงทุนสามารถแบ่งได้ตามวิธีการลงทุน ซึ่งหากเราไม่เข้าใจว่าเราเป็นนักลงทุนประเภทไหนถือว่าเป็นความผิดพลาดมหันต์ และเชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่ที่ไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะไม่รู้ว่าเราเป็นนักลงทุนประเภทไหน เพราะนักลงทุนแต่ละประเภทมีวิธีการลงทุนที่แตกต่างกันแล้วก็ใช้ความรู้ในการลงทุนที่แตกต่างกัน

การไม่รู้ว่าเราเป็นนักลงทุนประเภทไหน ก็เหมือนการติดกระดุมเม็ดแรกผิด

ประเภทนักลงทุนมีอะไรบ้าง

โดยทั่วไปแล้ว นักลงทุนจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ประกอบไปด้วย

1. นักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor)

นักลงทุนที่เน้นลงทุนระยะยาว เหมือนเป็นเจ้าของธุรกิจ ดังนั้นนักลงทุนกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทในระยะยาว

ส่วนผลตอบแทนที่คาดหวังจะมีทั้งราคาหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นในระยะยาวจากการเติบโตของกำไรของบริษัท และที่สำคัญคือเงินปันผลที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นเมื่อบริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น

2. นักลงทุนห่านทองคำ (Yield Investor)

นักลงทุนที่เน้นเรื่องอัตราผลตอบแทนของเงินปันผลเป็นหลัก จะให้ความสำคัญกับการจ่ายเงินปันผลที่สม่ำเสมอของบริษัทที่เข้าไปลงทุน เหมือนห่านที่ออกไข่ทองคำมาให้ทุกวัน (แต่อย่าฆ่าห่านนะ) ซึ่งไม่ต่างจากนักลงทุนเน้นคุณค่าที่เน้นเงินปันผลเช่นเดียวกัน แต่นักลงทุนห่านทองคำจะเน้นผลตอบแทนเงินปันผลที่สูงและสม่ำเสมอ แต่ไม่เน้นเรื่องการเติบโตของกำไรมากนัก เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้า น้ำประปา ที่กำไรสม่ำเสมอและให้ผลตอบแทนเงินปันผลสูงสม่ำเสมอ แต่ด้านกำไรเติบโตตามเศรษฐกิจไม่ได้โดดเด่น แต่ข้อดีคือมีความเสี่ยงของการลงทุนที่ต่ำกว่าหุ้นของนักลงทุนเน้นคุณค่าที่จะให้ความสำคัญของการเติบโตของกำไรในระยะยาวมากกว่า

3. นักลงทุนโมเมนตัม (Momentum Investor)

นักลงทุนที่ลงทุนตามสถานการณ์ของตลาดหุ้นหรือตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น (Event Driven) เป็นหลัก เช่น

  • การเปลี่ยนแปลงของตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เงินฝืด ดอกเบี้ย ตัวเลขส่งออก-นำเข้า การเคลื่อนไหวราคาน้ำมัน ราคาทองคำ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทิศทางเงินไหลเข้าไหลออกเป็นต้น
  • นอกจากนั้นอาจมีการเก็งกำไรตามการเปลี่ยนแปลงผลกำไรของบริษัทในระยะสั้นหรือกลางเช่นผลกำไรรายไตรมาส รายปี
  • หรือแม้กระทั่งเก็งกำไรจากเหตุการณ์ต่างๆ เช่นสงคราม ภัยธรรมชาติ การเมืองในประเทศ เป็นต้น
  • ตัวอย่างเช่นเดือนมิถุนายนราคาหุ้นโรงหนังจะปรับขึ้น ช่วงตรุษจีน ราคาหุ้นของบริษัทที่ขายหมูขายไก่ขึ้น หรือช่วงมอเตอร์โชว์หุ้นกลุ่มเช่าซื้อรถยนต์และหุ้นกลุ่มยานยนต์จะขึ้น หุ้นส่งออกจะขึ้นในไตรมาสที่ 2 เป็นต้น

ดังนั้นจะเห็นได้ว่านักลงทุนประเภทนี้ต้องมีความรู้มากพอควร ที่จะต้องรู้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจหรือเหตุเปลี่ยนแปลงต่างๆ มีผลอย่างไรต่อราคาหุ้นทั้งรายกลุ่มอุตสาหกรรมและรายบริษัท

4. นักเก็งกำไร (Speculator)

นักลงทุนที่เน้นทำกำไรจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นในระยะสั้น ระดับวัน สัปดาห์หรือเดือน โดยอาศัยการวิเคราะห์ทางเทคนิค ที่เน้นดูกราฟราคาหุ้นและมูลค่าการซื้อขายหุ้นเป็นหลัก โดยจะมีทฤษฎีว่าหากกราฟราคาหุ้นเคลื่อนไหวแบบนี้ด้วยมูลค่าการซื้อขายมากหรือน้อย แล้วจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าราคาหุ้นจะปรับลงหรือขึ้น โดยไม่ให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานมากนัก หรืออาจจะมีสัญญาณของตัวชี้วัดต่างๆ ที่บ่งบอกว่าราคานี้ต้องซื้อ ราคานี้ต้องขาย

ดังนั้นนักลงทุนประเภทนี้ต้องดูกราฟราคาหุ้นเป็น ต้องรู้สัญญาณบ่งชี้ว่าควรซื้อหรือควรขาย และที่สำคัญแม้ว่าจะขาดทุนก็ต้องขายตามสัญญาณ ซึ่งเรียกว่าตัดขาดทุน (Cut loss) ซึ่งเป็นวินัยที่สำคัญมากสำหรับนักลงทุนประเภทนี้

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนประเภทไหนหรือจะเป็นหลายแบบก็ได้ มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ทั้งนั้น ขอแค่ให้แน่ใจว่าเรามีความรู้และความเข้าใจว่านักลงทุนแต่ละประเภทมีวิธีการลงทุนอย่างไร ดังนั้นเราต้องค้นหาตัวเองให้ได้ก่อนว่าเราเป็นประเภทไหน แต่หากยังตัดสินใจไม่ได้ การจัดพอร์ตการลงทุนตามความเสี่ยงผ่านกองทุนรวมถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในช่วงเริ่มต้น ก่อนที่เราจะมีความรู้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำก่อนว่า แม้ว่าเราจะศึกษามาอย่างดีในการลงทุนประเภทต่างๆ แต่ไม่ได้การันตีว่าเราจะถูกต้อง 100% เพราะไม่ว่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐานหรือปัจจัยด้านเทคนิคล้วนแล้วแต่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่นักลงทุนทุกประเภทต้องเข้าใจและต้องติดตามสถานการณ์ตลาดหุ้นตลอดเวลา เพียงแต่วิธีในการติดตามนั้นจะแตกต่างกันไปเท่านั้นเอง สำคัญอีกเรื่องคือไม่จำเป็นต้องยึดติดกับประเภทการลงทุนที่เราเลือก เพราะว่าเมื่อเวลาผ่านไปความคิดเราอาจจะเปลี่ยน หรือลงทุนไปสักพักแล้วรู้สึกว่าเราเลือกประเภทนักลงทุนผิด เราก็สามารถเปลี่ยนวิธีการลงทุนได้

จงอย่าปล่อยให้ความผิดพลาดครั้งเดียว ทำลายพอร์ตการลงทุนของเราทั้งหมด ดังนั้นติดตามธุรกิจหรือสถานการณ์ของตลาดหุ้นที่เราเข้าไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง ตามวิธีการลงทุนที่เราเลือก

===============

‍‍‍‍‍‍🌟ติดตามสาระและความรู้เกี่ยวกับการลงทุนเพิ่มเติม

https://www.piknowledge.co

===============

ช่องทางการติดตาม Pi Securities

• Website: https://www.pi.financial

• Facebook: https://bit.ly/38ZpLhq

• Youtube: https://bit.ly/3NEEmgV

• Blockdit: Blockdit.com/pisecurities

• Line@: https://bit.ly/3I2cCk7

• Telegram: https://t.me/pisecurities

เพื่อความสะดวกรวดเร็วในกรณีต้องการความช่วยเหลือ ท่านสามารถติดต่อ “ทีม Customer Support” บล.พาย ได้ผ่านช่องทางแชทด้านล่าง

Line: https://bit.ly/3I2cCk7

E-mail: [email protected]