Skip to content

Contents

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยกล่าวไว้ว่า “งบการเงินคือลายแทงหาบริษัทที่ดี หากเราไม่เข้าภาษาทางการเงินนี้ จงอย่าเลือกหุ้นด้วยตนเอง” นอกจากนั้นเขายังกล่าวอีกว่า “ในโลกจริงของการลงทุนหุ้นนั้น กระจกมองหลังจะชัดกว่ากระจกมองหน้าเสมอ” ซึ่งหมายถึงว่าการวิเคราะห์งบการเงินนั้นควรเริ่มต้นจากการดูผลการดำเนินงานในอดีตว่าดีหรือไม่ หากดีเราค่อยมาดูกันว่าในอนาคตเป็นอย่างไร เพราะผลการดำเนินงานในอดีตมักจะไม่หลอกเรา

ก่อนที่เราไปทำการวิเคราะห์งบการเงินนั้น เรามาทำความเข้าใจโครงสร้างของงบการเงินของบริษัทก่อนว่าเป็นอย่างไร งบการเงินจะประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบหลักๆ

  1. งบดุล
  2. งบกำไรขาดทุน
  3. งบกระแสเงินสด

งบดุล

งบที่แสดงฐานะทางการเงินของบริษัท ณ วันสิ้นงวดบัญชี ประกอบด้วยส่วนสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนผู้ถือหุ้น โดยสินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนผู้ถือหุ้น ซึ่งงบดุลเหมือนกับงบที่แสดงให้เห็นถึงฐานะทางการเงินของบริษัทว่าเราได้สินทรัพย์มาได้อย่างไร มาจากหนี้สินเท่าไร มาจากส่วนผู้ถือหุ้นหรือส่วนของความเป็นเจ้าของเท่าไร

หากอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น พวกเราทุกคนสามารถสร้างงบดุลส่วนตัวของพวกเราเองได้ ยกตัวอย่างเช่นเราซื้อบ้านหลังหนึ่งมูลค่า 10 ล้านบาท เราใช้เงินของเราเอง 2 ล้านบาท และกู้เงินธนาคารอีก 8 ล้านบาท นั้น หมายถึงเรามีสินทรัพย์ ซึ่งก็คือบ้าน 10 ล้านบาท และมีหนี้สิน ซึ่งก็คือ เงินที่เรากู้มาจากธนาคาร 8 ล้านบาท และก็มีส่วนผู้ถือหุ้นหรือส่วนความเป็นเจ้าของซึ่งก็คือเงินของเราเอง 2 ล้านบาท ดังนั้นเราสามารถสรุปได้เป็น สินทรัพย์ (บ้าน 10 ล้านบาท) = หนี้สิน (กู้ธนาคาร 8 ล้านบาท) + ส่วนผู้ถือหุ้น (เงินเราเอง 2 ล้านบาท)

งบกำไรสุทธิ

งบที่แสดงกิจกรรมจากการดำเนินงาน ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ประกอบไปด้วยรายได้และค่าใช้จ่าย งบกำไรสุทธิจริงๆ แล้ว คืองบที่แสดงให้เห็นว่าใช้สินทรัพย์ที่ซื้อมาสร้างกำไรได้เท่าไร เช่น เราซื้อสินทรัพย์มานั้นคือบ้าน แล้วเราปล่อยเช่า เราก็จะได้รายได้จากค่าเช่าบ้านเช่นปีละ 100,000 บาท แต่รายได้นี้ไม่ใช่กำไรสุทธิ เพราะเราต้องมีต้นทุนในการดูแลบ้าน เราต้องมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากที่เรากู้เงินธนาคารมา และเราอาจต้องจ่ายภาษีกำไรที่ได้จากค่าเช่า ซึ่งสมมุติว่าทั้งหมดคือ 20,000 บาท เงินที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็คือกำไรสุทธิที่มาสู่เราหรือคือ 80,000 บาท ซึ่งเราสามารถนำเงินกำไรทั้งหมดมาใช้ได้ หรือเหมือนกับเราจ่ายเงินปันผลออกมา 100% เลย แต่อย่างไรก็ตามเราอาจเก็บเงินไว้ 60,000 บาท และเอาออกมาใช้เพียง 20,000 บาท หรือเหมือนกับจ่ายเงินปันผลออกมา 25% (ปันผล 20,000 บาทหารด้วยกำไร 80,000 บาท) ส่วนที่เหลือ 60,000 บาท เราก็นำไปเก็บเพิ่มในส่วนผู้ถือหุ้นซึ่งอยู่ในงบดุล เพื่อจะนำเงินสดนี้ไปใช้ภายหลัง และหากเราเก็บได้มากพอเราอาจนำไปซื้อบ้านอีกหลัง เพื่อปล่อยเช่าต่อไปอีกหลัง ซึ่งเหมือนกับบริษัทนำเงินไปลงทุนซื้อสินทรัพย์เพื่อสร้างกำไรต่อไปในอนาคต

ดังนั้นงบดุลจึงมีความสัมพันธ์กับงบกำไรขาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความสามารถของบริษัทในการใช้สินทรัพย์เพื่อสร้างกำไรจึงมีความสำคัญมาก ซึ่งไม่สามารถดูได้จากตัวเลขในงบการเงินอย่างเดียว แต่เราต้องวิเคราะห์ผ่านอัตราส่วนทางการเงินด้วยเช่นกัน

งบกระแสเงินสด

งบที่แสดงกระแสเงินสดเข้าและออกในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน กระแสเงินสดจากการลงทุน และกระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน หากให้สรุปง่ายๆ งบกระแสเงินสดคือเงินสดที่เรามีอยู่ในกระเป๋าเงินของเรา หรือเงินสดที่มีอยู่ในบริษัท ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง กระแสเงินสดมีความสำคัญมากเพราะแม้ว่าบริษัทจะมีกำไรดีแต่หากมีช่วงใดที่บริหารเงินสดผิดพลาดจนไม่มีเงินสดมาชำระดอกเบี้ยธนาคารหรือจ่ายเจ้าหนี้ต่างๆ เมื่อนั้นบริษัทเรามีโอกาสล้มละลายได้ โดยกระแสเงินสดจากการดำเนินงานถือว่ามีความสำคัญที่สุด หากเป็นลบแสดงให้เห็นถึงการบริหารสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจที่มีปัญหา

===============

‍‍‍‍‍‍🌟ติดตามสาระและความรู้เกี่ยวกับการลงทุนเพิ่มเติม

https://www.piknowledge.co

===============

ช่องทางการติดตาม Pi Securities

• Website: https://www.pi.financial

• Facebook: https://bit.ly/38ZpLhq

• Youtube: https://bit.ly/3NEEmgV

• Blockdit: Blockdit.com/pisecurities

• Line@: https://bit.ly/3I2cCk7

• Telegram: https://t.me/pisecurities

เพื่อความสะดวกรวดเร็วในกรณีต้องการความช่วยเหลือ ท่านสามารถติดต่อ “ทีม Customer Support” บล.พาย ได้ผ่านช่องทางแชทด้านล่าง

Line: https://bit.ly/3I2cCk7

E-mail: [email protected]