ในสัปดาห์นี้ ประเด็นที่นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตามองอย่างใกล้ชิด คงหนีไม่พ้นเรื่องธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 15-16 มี.ค. ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างร้อนแรง ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลอย่างไรต่อการลงทุนบ้าง
โดยทั่วไปแล้ว ธนาคารกลางมีหน้าที่หลัก 2 อย่าง คือสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และควบคุมเสถียรภาพของราคา โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นหนึ่งในกลไกควบคุมเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างร้อนแรงหรือเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ธนาคารกลางจึงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้เงินเฟ้อชะลอตัวลง ในทางตรงกันข้าม หากเศรษฐกิจหดตัว ธนาคารกลางจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ
อัตราดอกเบี้ยกับตลาดหุ้น
คงต้องกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อตลาดหุ้น แต่มีผลทางอ้อมต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาด โดยเมื่อดอกเบี้ยขึ้น จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น หากบริษัทกู้เงินมาขยายธุรกิจเป็นจำนวนมาก ย่อมส่งผลให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นตามมา ซึ่งอาจมีผลให้อัตรากำไรของบริษัทลดลง และเสี่ยงกระทบต่อราคาหุ้น
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในอดีต มีหุ้นบางกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น เช่น กลุ่มธนาคาร เนื่องจากรายได้หลักของธนาคารมาจากดอกเบี้ยในการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นเมื่อมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้ธนาคารมีช่องว่างปรับดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มส่วนต่างของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin)
อัตราดอกเบี้ยกับตลาดตราสารหนี้
ตรงข้ามกับหุ้น ตลาดตราสารหนี้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะจะส่งผลให้ราคาตราสารหนี้มีแนวโน้มปรับตัวลง จากการที่ตราสารหนี้ที่ออกใหม่จะมีอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วสูงขึ้น ทำให้ตราสารหนี้ในตลาดที่มีอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วต่ำกว่า ได้รับความสนใจจากนักลงทุนน้อยลง และนำไปสู่แรงเทขาย โดยราคาตราสารหนี้ระยะยาวจะได้รับผลกระทบมากกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น
อัตราดอกเบี้ยกับสินค้าโภคภัณฑ์
โดยทั่วไปแล้ว การปรับขึ้นดอกเบี้ยมีแนวโน้มส่งผลให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้น โดยเงินดอลลาร์ถือเป็นหนึ่งในต้นทุนของสินค้าโภคภัณฑ์ เมื่อ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย เม็ดเงินลงทุนจึงถูกดึงดูดให้เข้ามาในสินทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ (U.S. dollar-denominated assets) สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือการแข็งค่าของดอลลาร์มีผลให้ต้นทุนของสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้น ส่งผลให้ความต้องการลดลง และทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวลง
อัตราดอกเบี้ยกับคริปโทเคอร์เรนซี
หากกล่าวโดยทั่วไป เมื่อมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย สินทรัพย์เสี่ยงมักมีความน่าสนใจน้อยลง ซึ่งคริปโทเคอร์เรนซีถือเป็นหนึ่งในนั้น โดยช่วงที่ผ่านมา ราคาคริปโทค่อนข้างอ่อนไหวกับความเคลื่อนไหวของ Fed ตัวอย่างเช่น หลังการเปิดเผยรายงานการประชุมของ Fed เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ระบุว่า Fed ส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในปี 2022 ราคาบิตคอยน์ปรับลงจาก $46,500 มาอยู่ที่ $43,200 ตามข้อมูลจาก CryptoVantage
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก Coindesk ระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งอาจทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น น่าจะเป็นผลดีต่อ Stablecoin ที่ผูกกับเงินดอลลาร์ ตามทิศทางเม็ดเงินลงทุนที่มีแนวโน้มไหลเข้าไปในสินทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ (U.S. dollar-denominated assets)
Sources: Investopedia, SET, CryptoVantage